เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

Lannamagazine

Lannamagazine的บล๊อก

Lannamagazine的主頁 | ดูทั้งหมด

ความเสื่อมโทรมหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2010-11-20 00:10
 
 

 

สลัมคอนโด :

ความเสื่อมโทรมหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย : ศาสวัต บุญศรี

สามสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสกลับไปเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นสถาบันที่จบมาสมัยเรียนระดับปริญญาตรี
 
กลับไปทีไรก็ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แถวละแวก มช. ตามความคุ้นเคย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่ไปเยือน คอนโดมิเนียมหรูตึกสูงมากมายผุดขึ้นเต็มพื้นที่หลังมหาวิทยาลัย ตลอดถนนสุเทพเรื่อยยาวไปถึงด้านในซอยวัดอุโมงค์เต็มไปด้วยร้านค้าแทบทุกตารางนิ้ว ทำเอาผู้เขียนเกิดภาวะงงเสมอต่อบรรดาพื้นที่ว่างที่เราจำได้ว่ากลายเป็นอะไรไปเสียหมดแล้ว
 
ในสายๆ วันอาทิตย์อากาศดีๆ ช่วงปิดเทอมของเด็กๆ ผู้เขียนลองขี่มอเตอร์ไซค์สำรวจความเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทางถนนสุเทพ ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลมหาราช (หรือที่รู้จักกันดีว่าโรงพยาบาลสวนดอก) เรื่อยมาจนถึงสุดถนนที่อ่างเกษตร อ่างเก็บน้ำวิวดีอีกแห่งของเชียงใหม่ จากนั้นค่อยๆ ขี่ทะลุตรอกซอกซอยไปโผล่วัดอุโมงค์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังย่านหลัง มช. เลยเรื่อยไปถึงชุมชนบ้านโป่งน้อย อันเป็นที่ตั้งของเทศบาลตำบลสุเทพ
 
ย่านสวนดอกนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงเท่าไร อาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังคงหน้าตาคล้ายเดิม ทว่าพอผ่านช่วงสามแยกหอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไป จนถึงตลาดพยอมผ่านสี่แยกคลองชลประทาน เรียกได้ว่าแทบอยู่กันคนละโลกกับฟากสวนดอกเลยทีเดียว อาคารพาณิชย์ร้านค้าถูกสร้างอย่างสวยงามเต็มฝั่งฟากตรงข้ามมหาวิทยาลัยยาวเหยียดไปจนถึงประตูคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ว่างต่างๆ ที่เคยเห็นในอดีตถูกแปรสถานะรองรับหอพักตึกสูงไปเสียสิ้น สีเขียวจากต้นไม้แทบไม่มีให้เห็น
 
ยิ่งเข้าไปในซอยวัดอุโมงค์ยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลง บอกเล่าเรื่องอดีตนิด ผู้เขียนเข้าเรียน ป.ตรี ตอนปี 2543 ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่เรียนหากไม่มีกิจธุระอะไร จะพยายามเลี่ยงซอยวัดอุโมงค์เสมอเพราะซอยนี้ค่อนข้างลึก เงียบ เปลี่ยว มืดมากในยามค่ำคืน แถมมีตรอกซอกซอยทะลุถึงกันได้มากมาย พูดจากใจจริงคือกลัวหลงนั่นเอง ตลอดเส้นทางมีเพียงบ้านคนไม่กี่หลัง ร้านค้าไม่กี่ร้าน สองข้างถนนอุดมด้วยป่าชัฏชวนให้กลัวทั้งผีและโจรผู้ร้ายในยามค่ำคืนเป็นอันมาก ทว่าทุกวันนี้ ป่าต่างๆ ริมสองข้างทางถูกซื้อเอาไปทำหอพัก แทบจะทุกตรอกที่ผู้เขียนเคยกลัวหลงนั้นแปรสภาพด้วยบ้านเรือน ตึกหอและร้านเหล้า จะเหลือก็เพียงที่ดินช่วงก่อนถึงวัดอุโมงค์เท่านั้นที่ยังไม่ถูกขาย (และเจ้าของก็ไม่อยากขายด้วย เพราะปักป้ายไว้เลยว่า ไม่ต้องโทรมาคุยให้เสียเวลาเพราะไม่ขาย)
 
ปัญหาที่ตามมาจากความเจริญแบบก้าวกระโดดนี้ส่งผลเสียมากมาย ทั้งปัญหาการจราจรในถนนสุเทพลามมาจนถึงในซอยวัดอุโมงค์ การเคลื่อนที่ของลมที่เคยโกรกพัดเย็นก็ติดขัดชะงัก เพราะมีตึกสูงขวาง แถมยามฝนตกก็เกิดน้ำท่วมได้ง่าย เพราะตึกเหล่านี้ไปขวางทางน้ำไหล บางทีฝนตกหนักเพียงไม่เกินสิบห้านาที ก็ทำเอาถนนสุเทพน้ำท่วมแล้ว ที่หนักสุด คือ วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่เดิมเปลี่ยนไปมาก เช่น
ตอนนอนดึกขึ้นเพราะเสียงรบกวนจากหอนักศึกษาและร้านเหล้าที่เปิดรายรอบ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยบางคนเคยนอนสองทุ่มตอนเปลี่ยนเป็นตีสอง เพราะขาเที่ยวทั้งหลายมาเสียงดังหน้าบ้านตอนร้านปิด
 
น่าสนใจว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แถมยังกระจุกตัวอยู่แต่แถบหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนแทบจะเรียกได้เต็มปากว่า "สลัม" ผู้เขียนอยากลองใช้ประสบการณ์การอยู่เชียงใหม่มา 10 ปี ลองทำการวิเคราะห์ดู ลองคิดๆ ดูก็หาสาเหตุได้อยู่ 4 ประการ ดังนี้
 
ประการแรก นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับมหาวิทยาลัย คือ ปริมาณนักศึกษาที่มากขึ้นในแต่ละปี บวกกับไลฟ์สไตล์ที่ไม่นิยมอยู่หอในของมหาวิทยาลัยเหตุ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ (เช่น เวลาในการเข้าออกหอ การต้องอยู่กับเพื่อนร่วมห้องในห้องที่แคบมาก เป็นต้น) ส่งผลให้ปริมาณความต้องการอาศัยอยู่บรรดาหอพักทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นหลายเท่าจากช่วงห้าหกปีก่อน เมื่ออุปสงค์มีสูง นักธุรกิจย่อมเห็นหนทางทำกิน อุปทานก็ย่อมมากตามสอดคล้องต่อความต้องการ แถมที่ดินมีราคาสูง สร้างทั้งทีก็ต้องเอาให้คุ้ม คือ ให้สูงเข้าว่า ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนแล้วนี่ล้วนแล้วเป็นทัศนะอุจาดบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของดอยสุเทพทั้งสิ้น
 
ประการต่อมา คือ เรื่องการจัดพื้นที่ความเจริญ ราวสิบปีที่แล้วพื้นที่หลัง มช.เรียกได้ว่าไม่มีความเจริญอันใดเลย มีเพียงหอไม่กี่แห่งและส่วนมากก็เป็นร้านข้าวและร้านเช่าการ์ตูน เงียบถึงขนาดสามารถไปยืนกลางถนนตอนสองทุ่มได้ถึงสองสามนาทีอย่างสบายๆ บรรดาความเจริญต่างๆ อยู่ในโซนหน้า มช.ทั้งสิ้น ทว่าราวๆ ปี 2545 ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ปรับเอาบรรดาตลาดริมถนนหน้ามหาวิทยาลัยย้ายไปอยู่โซนหลัง มช.อย่างในปัจจุบันเนื่องด้วยเหตุผลทัศนะอุจาด และเป็นเส้นทางเสด็จ จึงทยอยย้ายมาเปิดในโซนถนนสุเทพแทน พร้อมกับการย้ายฟากความเจริญอย่างถาวร (ทำเอาร้านค้าย่านหน้า มช.ที่เคยคึกคักถึงกับเงียบเหงาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน)
 
ประการที่สาม คือ ทิศทางของพื้นที่การพัฒนา ภูมิศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทิศตะวันตกติดดอยสุเทพพัฒนาไปไม่ได้แล้ว ทิศตะวันออกยาวเหยียดติดกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านประตูสวนดอก ไม่มีพื้นที่ให้ขยายแล้ว เหลือเพียงแต่ทิศเหนือและทิศใต้เท่านั้น ที่สามารถขยายออกไปได้ ทว่าตลอดสิบปีตึกรามบ้านช่องมักผุดขึ้นแต่ในโซนทิศใต้เสียมากกว่า ผู้เขียนคิดว่าบริเวณทิศเหนือมีชุมชนใหญ่ (คือ ชุมชนช่างเคี่ยน) ตั้งอยู่ก่อนแล้ว บวกกับเลยขึ้นไปเป็นพื้นที่ทางทหารเสียมาก เลยยากต่อการพัฒนา รวมถึงความรู้สึกของนักศึกษาที่มักจะรู้สึกว่าการเดินทางบนถนนเลียบคลองชลประทานในทิศทางไปสนามกีฬาเจ็ดร้อยปีนั้นช่างไกลแสนไกล ส่งผลให้นักธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในโซนทิศใต้ของมหาวิทยาลัยมากกว่า
 
ประการสุดท้าย เกี่ยวข้องกับสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตประเภทไม่มาไม่ได้ในปี 2550 "งานพืชสวนโลก" นั่นเอง หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วงก่อน ปี 2548 คงจำสภาพถนนเลียบคลองชลประทานตั้งแต่ตลาดพยอมเรื่อยไปจนถึงอำเภอหางดงได้ดีว่าเป็นเพียงถนนสองเลนเล็กๆ ที่รถวิ่งสวนกัน เรียกได้ว่าไม่จำเป็นแทบไม่เคยไป พอมีงานพืชสวนโลก ถนนสองเลนนี้ได้รับการปรับปรุงอย่างดี กลายเป็นถนนหกเลนยาวเหยียดเลียบดอยสุเทพและดอยปุยชมวิวทิวทัศน์สวยงามมากในยามเย็น แน่นอนว่า เมื่อถนนหนทางมันไปง่ายกว่าเดิมเยอะ ผู้คนก็ยอมเสาะแสวงหาพื้นที่ทำเลทำมาหากินใหม่ๆ พื้นที่ว่างแต่เดิมที่ไกลถนนสะดวกสบายกลายเป็นที่ดินราคาทองพร้อมแปรสภาพเป็นหอพักและคอนโดอัดแน่นกันมากมายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
 
ปัญหาเรื่องนี้ผู้เขียนเองก็นึกไม่ออกว่าจะแก้กันอย่างไรดี จะให้ทุบตึกสร้างกันใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาจริงๆ ที่ผู้เขียนมอง คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างพื้นที่และประชากร (ซึ่งส่วนใหญ่คือนักศึกษา) และปัญหาในการจัดการผังเมืองที่ใครใคร่สร้างตรงไหนก็สร้าง ขาดการควบคุมจากทั้งเทศบาลตำบล สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การจัดการวางผังเมืองในพื้นที่ชุมชนด้านหลังวัดอุโมงค์ ชุมชนวัดร่ำเปิงและชุมชนโป่งน้อย อันเป็นพื้นที่ถัดไปจาก "สลัมคอนโด" มิให้เกิดเหตุภาวะปัญหาการเบียดเสียดของตึกสูงเช่นนี้อีก
 
นี่เป็นเรื่องที่หยิบมาเล่าสู่กันฟังโดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่เป็นศิษย์เก่าทั้งหลาย เพื่อให้ได้ทราบกันว่าเวลาเปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยน แถมยังเปลี่ยนเร็วชนิดหากไม่ได้มาปีสองปีอาจจำไม่ได้ทีเดียว และผู้เขียนเชื่อว่าอีกปีสองปีข้างหน้าความเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งเปลี่ยนโฉมหน้าพื้นที่รอบ มช. ทั้งย่านถนนสุเทพ ห้วยแก้ว และนิมมานเหมินต์ไปเสียยิ่งกว่านี้อีกหลายเท่า
 
---------------------------------------
 
เรื่องเล่าจากอีเมลครับ
แชร์ 1799 ดู | 0 ความเห็น

Footprints

ความเห็น