เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

thejeekung

thejeekung的บล๊อก

thejeekung的主頁 | ดูทั้งหมด

หลักการเบื้องต้นในการเขียนค่าวและบทกวี

2013-09-20 15:25
 
 

มีบางท่านมาขอให้ผมสอนเขียนค่าว เขียนบทกวี
ส่วนใหญ่ผมก็เสนอให้ไปอ่านมาเยอะๆ ดูฉันทลักษณ์ให้เข้าใจ 
หรือไม่ก็ไปซื้อหนังสือพี่หนานชาติมาอ่าน 
ส่วนตัวผมวันนี้ขอฝากข้อเสนอแนะไว้เป็นข้อๆ แล้วกันครับ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์

1. อ่านค่าว อ่านบทกวีเยอะๆ ให้อ่านอย่างมีความสุข อย่าอ่านอย่างคร่ำเคร่ง 
บทไหนชอบเป็นพิเศษก็อ่านซ้ำๆ เหมือนร้องเพลง ชอบเพลงไหนก็ร้องเพลงนั้น จนจำได้ในท่วงทำนอง 
ก่อนจะเป็นนักแสดงที่ดี ต้องเป็นผู้ชมที่ดีก่อน ก่อนจะเป็นนักพูดที่ดี ต้องเป็นนักฟังที่ดีก่อน 
และ ก่อนจะเป็นนักเขียนที่ดี ก็ต้องเป็นนักอ่านที่ดีก่อน

2. เริ่มเขียนที่ละนิดทีละหน่อย ให้มีความสุขในการเขียน เขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน อาจเริ่มจากการเอาบทกวีของคนอื่นมาปรับโน่นนิด ปรับนี่หน่อย แล้วค่อยๆ ฝึกเขียนของตัวเองทั้งหมด

3. ให้เกียรติกวีท่านอื่น เอาบทกวีใครมาใช้ก็ต้องอ้างอิง ได้แนวคิดมาจากใครก็ต้องอ้างอิง ถือเป็นทำเนียมที่งดงาม

4. ศึกษาฉันทลักษณ์ให้เข้าใจ ก่อนจะพลิกแพลง ต้องเข้าใจธรรมชาติของค่าว หรือบทกวีที่เราเขียนก่อน 
ถ้าอยากเขียนค่าวก็ต้องรู้จักก่อนว่าค่าวเน้นสัมผัสคำ และเน้นวรรณยุกต์ตรงไหนอย่างไร แต่ละวรรคแต่ละบท
มีกี่พยางค์ อย่าสักแต่ว่าเขียนตามใจแล้วบอกว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนเป็นค่าว เพราะถ้าทำอย่างนั้นผู้รู้จะติเตียนได้ว่าไม่รู้จริง

5. ค่าว หรือ บทกวีที่ดี มีลักษณะที่สำคัญ 2 อย่าง คือ ไพเราะ และ มีประโยชน์ อย่าเน้นแต่ "สัมผัสคำ" 
จนลืม "สัมผัสใจ" บทกวีที่มีคุณค่านอกจากจะไพเราะแล้วต้องมีประโยชน์ด้วย
 เหมือนดอกไม้งามอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกลิ่มหอมด้วย อาหารอร่อยอย่างเดียวไม่พอ 
ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย

6. เวลาที่คิดคำไม่ออก ให้นึกถึง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก แล้วดูว่าคำที่เราต้องการให้สัมผัส ใช้สระอะไร 
ให้เอาสระนั้นไปผสมตั้งแต่ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก แล้วค่อยมาเลือกอีกทีว่าน่าจะเอาคำใหนมาใช้ได้บ้าง 
เช่น ถ้าสัมผัสเป็นสระ ไอ ก็เริ่มตั้งแต่ ไก ไข ไค ไง ใจ ไปจนถึง ไฮ ถ้าต้องการเสียงเอก 
ก็ ใส่ไปเป็น ไก่ ไข่ ไค่ ไง่ ไจ่ ไปเรื่อยๆ วรรณยุกต์อื่นก็เช่นกัน คำไหน ไม่มีความหมายก็ให้ผ่านไป 
เลือกเฉพาะคำที่ใช้ได้ ถ้าสแกนดูหมดแล้วก็ไม่สามารถหาคำมาต่อได้ ให้เปลี่ยนข้อความในวรรคก่อนหน้า 
เพื่อให้ง่ายต่อการหาคำมาสัมผัสมากขึ้น ถ้าคำในภาษาเราไม่มี ก็สามารถเลือกเอาคำในภาษาอื่นมาใช้ได้บ้าง
ตามความเหมาะสม

7. ในทัศนะของผม นักรบที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง คือนักรบที่ปั้นนักรบที่ยิ่งใหญ่ได้อีกหลายๆ คน 
ศิลปินที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง คือศิลปินที่ทำให้เกิดศิลปินที่ยิ่งใหญ่ได้อีกหลายๆ คน
กวีที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง คือ กวีที่ทำให้เกิดกวีที่ยิ่งใหญ่อีกหลายๆ คน
คนที่เก่ง มีความสามารถแต่หวงความรู้ ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง เพราะความคับแคบของจิตใจ กักขังเขาไว้อยู่อย่างนั้น
สิ่งที่ผมอยากชักชวนพวกเราก็คือ การมาช่วยกันฟื้นฟูภาษาและวรรณกรรมล้านนา
ผมอยากเห็นยุคนี้มีกวีล้านนาเยอะๆ เราจะก้าวไปสู่ "ยุคทองของกวีล้านนา" พร้อมๆ กันครับ

เดอะจิ๊กุ่ง
๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ 
ชมรมคนรักค่าว (www.lannapoem.com) 

แชร์ 884 ดู | 0 ความเห็น

Footprints

ความเห็น