เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

Lannamagazine

Lannamagazine的บล๊อก

Lannamagazine的主頁 | ดูทั้งหมด

ฟ้อนเล็บศิลปะการร่ายรำแห่งล้านนา

2010-01-04 14:50
 
 

ฟ้อนเล็บศิลปะแห่งล้านนา

Posted by : denchai8 | ผู้อ่าน : 6116 | พิมพ์หน้านี้ | 10:53:58 น.

 


             
  ฟ้อนเล็บ เป็นศิลปะที่งดงามอันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของ "คนเมือง"

     อันหมายถึงผู้คนในถิ่นล้านนา   และการแสดงนั้นมักจะปรากฏในขบวนแห่ครัวทานเข้าวัด  จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ฟ้อนแห่ครัวทาน" ต่อมามีการสวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง ๘ นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) จึงได้ชื่อว่า "ฟ้อนเล็บ"

     การฟ้อนแบบนี้มีมาแต่ดั้งเดิม คณะศรัทธาของแต่ละวัดมักมีครูฝึกสืบทอดต่อกันมา เมื่อถึงฤดูกาลที่จะมีงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานฉลองศาสนสถาน มักมีการฝึกซ้อมเด็กสาวในหมู่บ้านเพื่อแสดงในงานดังกล่าวเสมอโดยที่รูปแบบกระบวนและลีลาท่าฟ้อนไม่ได้กำหนดตายตัว ขึ้นกับแต่ละครูหรือแต่ละวัดจะแตกต่างกันไป คุณจิริวัลย์  หาญพานิชชานนท์  ครูชำนาญการ วิทยาลัยนาฎศิลป์ กล่าวถึงเรื่องราวของความเป็นมาของการฟ้อนเล็บและท่าทางการร่ายรำว่า

สัมภาษณ์ :  พูดถึงความเป็นมาของการฟ้อนเล็บ และท่าฟ้อน
               
 
     ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้มีการปรับปรุงและประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้ ดูอ่อนช้อยงดงามยิ่งขึ้น และบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดจากคุ้มเจ้าหลวงได้แก่ ครูสัมพันธ์ โชตนาในโอกาสที่ครูสัมพันธ์   ได้เข้าไปถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนชนิดนี้แก่       วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ท่านได้กำหนดท่าฟ้อนไว้ ๑๗ ท่าดังนี้

๑. จีบส่งหลัง                ๒. กลางอัมพร          ๓. บิดบัวบาน

๔. จีบสูงส่งหลัง            ๕. บัวชูฝัก               ๖. สะบัดจีบ

๗. กราย                        ๘. ผาลาเพียงไหล่    ๙. สอดสร้อย

๑๐. ยอดตอง                ๑๑. กินนรรำ             ๑๒. พรหมสี่หน้า

๑๓. กระต่ายต้องแร้ว     ๑๔. หย่อนมือ         ๑๕. จีบคู่งอแขน
 
๑๖. ตากปีก                  ๑๗. วันทาบัวบาน


      ท่ารำต่างๆ ดังกล่าว อาจมีการเพิ่มท่า ตัดตอน หรือลำดับท่าก่อนหลังตามที่ครูสอนแต่ละคนจะกำหนด

      เรื่องของการแต่งกายนั้นแต่เดิมจะนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลมหรือคอจีนผ่าอก เกล้าผมมวยโดยขมวดมวยด้านท้ายทอย ทัดดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง จำปา กระดังงา หางหงส์ หรือลีลาวดี สวมเล็บทั้งแปดนิ้วต่อมามีการดัดแปลงให้สวยงามโดยประดับลูกไม้ หรือระบายที่คอเสื้อ ห่มสไบเฉียงจากบ่าซ้ายไปเอวขวาทับด้วยสังวาล ติดเข็มกลัด สวมกำไล ข้อมือ กำไลเท้า เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ทัดดอกไม้หรืออาจเพิ่มอุบะห้อยเพื่อความสวยงาม

สัมภาษณ์ : เรื่องการแต่งกายและเครื่องดนตรี

       สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะในการฟ้อน จะใช้วงกลอง
"ตึงโนง"ซึ่งประกอบด้วย   

๑. กลองแอว ๒. กลองตะหลดปด  ๓. ฆ้องอุ้ย(ขนาดใหญ่) ๔. ฆ้องโหย้ง(ขนาดกลาง)   
๕. ฉาบใหญ่ ๖. แนหน้อย  ๗. แนหลวง


       ส่วนเพลงที่ใช้บรรเลงมิได้มีการกำหนดแน่ชัดแล้วแต่ผู้เป่าแนจะกำหนดอาจใช้เพลงแหย่ง เพลงเชียงแสน เพลงหริภุญชัยหรือลาวเสี่ยงเทียน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เพลงแหย่งเพราะช่างฟ้อนคุ้นกับเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่น


       แต่เดิมนั้นฟ้อนเล็บจะแสดงในงานฉลองสมโภชเพื่อนำขบวนทานหรืองานมหรสพปัจจุบันมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมจึงมีปรากฏให้เห็นตามโรงแรม ห้องอาหารโดยทั่วไป
 
สัมภาษณ์ : โอกาสการแสดงฟ้อน


        การฟ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ หากมีการถอดเล็บออกและเปลี่ยนเป็นการฟ้อนแบบถือเทียนไปด้วย จะเรียกว่า "ฟ้อนเทียน" ที่มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จัดให้มีการแสดงถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินฯ     เชียงใหม่ เมื่อปี พ  .ศ.๒๔๖๙      ในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พลับพลาที่ประทับ งานนี้พระราชชายาฯ ทรงให้ช่างฟ้อนเล็บถอดเล็บทองเหลืองออก แล้วให้ถือเทียนทั้งสองมือ เวลาออกไปฟ้อนก็จุดเทียนให้สว่าง การฟ้อนครั้งนั้นสวยงามเป็นที่ประทับใจ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า หากมีการฟ้อนเล็บเวลากลางวันให้สวมเล็บแต่ถ้าเป็นกลางคืนให้ถือเทียน และการที่ฟ้อนเทียนนี่เองเป็นเหตุให้ใช้เพลง "ลาวเสี่ยงเทียน" ประกอบการฟ้อน

สัมภาษณ์ : vox พูดถึงการแสดงฟ้อนเล็บ

                ถึงแม้ว่าการแสดงฟ้อนเล็บจะมีเอกลักษณ์ที่คล้ายคลึงการการแสดงของภาค
อื่น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นท่าฟ้อนและเครื่องแต่งกายที่ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก หรือการมีเล็บที่คล้ายคลึงกับรำมโนราห์ของภาคใต้   อีกทั้งการฟ้อนผู้ไทของจังหวัดสกลนครก็สวมเล็บเช่นกัน  แต่หากกล่าวถึงเครื่องดนตรีและเพลงประกอบการฟ้อน ซึ่งจะแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของฟ้อนเล็บที่ไม่มีภาคใดเหมือน  และเมื่อพบเห็นฟ้อนชนิดนี้ที่ไหน ก็สามารถเข้าใจตรงกันว่าคือการแสดงฟ้อนเล็บ อันเป็นการแสดงที่อ่อนช้อยงดงามตามแบบฉบับของคนเมืองล้านนาโดยแท้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.fm100cmu.com/blog/Lanna/content.php?id=303
 


 
แชร์ 9088 ดู | 2 ความเห็น

Footprints

ความเห็น

  • saomai
    saomai 2011-01-04 23:31
    ผมอยากทราบว่าการฟ้อนของแต่ละจังหวัดเช่น ฟ้อนกลองอืดของจังหวัดแพร่ ฟ้อนล่องน่าน ของจังหวัดน่าน  และการฟ้อนเล็บของเชียงราย ที่ใช้ดนตรีในการฟ้อนจากเชียงใหม่เหมือนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้อนเล็บของเชียงใหม่หรือไม่ อย่างไรครับ ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบายจิ่ม
  • thejeekung
    saomai: ผมอยากทราบว่าการฟ้อนของแต่ละจังหวัดเช่น ฟ้อนกลองอืดของจังหวัดแพร่ ฟ้อนล่องน่
    เรื่องนี้ก่อบ่ถนัดเหมือนกั๋นครับ
    คงต้องเซาะผู้เชี่ยวชาญมาตอบแหมกำครับ