เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

โดแมก

โดแมก的บล๊อก

โดแมก的主頁 | ดูทั้งหมด

เป้งล้านนา

2011-06-17 12:00
 
 
เป้งล้านนา ฝนง้างฟ้าห่าหลวงมาอิ่มโลก อันใดที่เคยเหี่ยวแห้งกลับพรึบเขียวอยู่ถ้วนทั่ว ทั้งกอหญ้าต้นไม้และใจคน ฝนปีนี้มาแปลกตกชนิดที่ไม่มีฟ้าร้องฟ้าผ่า เห็ดถอบออกไวก็แก่ไว หน่วยใดในขาวลิตรละร้อยแปดสิบ แพงกว่าเนื้อแดงสันนอก เห็ดไข่ห่านไข่เหลืองซ้ำถูก กองละห้าบาทบานเต็มตลาดประตูเชียงใหม่ เอาแกงใส่ยอดมะขามกลืนลื่นคอแท้ เดือนม่วนฝนฉ่ำยามนี้ จะพาไปแอ่ว พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นที่เชียงแสน ดินแดนแห่งน้ำฝนล้นฟ้า แล

เจ้าของพิพิธภัณฑ์ใจดี นาม พัชรี ศรีมัธยกุล ประจงเก็บเรื่องราวหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับดินแดนสามเหลี่ยมทองฅำแล้วนำมารวมกัน และที่มีชื่อเสียงเห็นจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ฝิ่น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นของมีค่าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ของมีค่าบรรดามี เช่น กล้องสูบฝิ่นราคาแพงเท่ารถยนต์มือสองมีอยู่หลายร้อยอัน รวมทั้งอุปกรณ์สุขารมณ์ต่าง ๆ ก็มีเป็นพัน ๆ ชิ้น และที่สำคัญที่จะเขียนถึงในวันนี้คือ เป้ง

เป้ง หรือ ลูกเป้ง หมายถึงตัวถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณหรือตราชู คนล้านนาเรียกชั่งชนิดนี้ว่า ยอย ด้านหนึ่งมีจานใส่ของเรียกผางยอย ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นที่ใส่ตัวถ่วงน้ำหนัก คือ เป้ง ลูกเป้งทำจากโลหะส่วนมากเป็นสำริดที่เป็นทองเหลืองก็มี มีหลายขนาด ทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก เป็ด หงส์และสัตว์ตามปีนักษัตร หรือทำเป็นลูกกลม ๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย

เป้งบางตัวมีเนื้อตะกั่วเติมเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน
ความสำคัญของลูกเป้งนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักดังกล่าวแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งแทนค่าได้อีกหลายนัย
นัยแรกแทนค่าเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา เช่นในขันตั้งอย่างล้านนาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะใส่ลูกเป้งในขันนั้นด้วย ถือเป็นของมีค่ามีราคาแทนทรัพย์สิน นัยต่อมา ลูกเป้งรูปนักษัตร หรือเป้งสิบสองราศี ใช้ใส่ขันตั้งเพื่อให้ขันตั้งนั้นเกิดสัมฤทธิผลมากขึ้น เพราะฤทธีของลูกเป้งสามารถปราบแพ้ขึดหรือเสนียดจัญไรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขันตั้งในพิธีกรรมสำคัญ ๆ เช่น การสืบชาตาบ้านเมือง เป็นต้น อีกนัยหนึ่งนั้น ลูกเป้งหมายถึงตัวนำโชค ทำนองเดียวกับเครื่องราง แต่เป็นเครื่องรางที่ใช้งานได้

นอกจากนี้ยังเรียกถุงผ้าขนาดเล็กมีหูรูดที่ใช้ใส่เงินพกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า ถงเป้ง หรือ ถุงเป้ง ส่วนถุงที่ใส่ลูกเป้งโดยตรงนั้นเท่าที่เคยเห็นจะใช้ผ้าเย็บทำเป็นถุงลักษณะคล้ายร่มชูชีพ ใส่ลูกเป้งหลาย ๆ ตัว ส่วนยอยเครื่องชั่งตราชูจะใส่ในตลับไม้ซึ่งต้องออกแบบให้ใส่เครื่องชั่งได้พอดี

ลูกเป้งพบทั่วไปในล้านนา แต่เนื่องจากมีเครื่องชั่งอื่น ๆ ที่เหมาะสมและใช้ได้สะดวกกว่าจึงเลิกนิยมกัน ปัจจุบันลูกเป้งมีผู้นิยมเก็บสะสมเป็นชุด ๆ เข้าชุดกัน เรียงตามลำดับน้ำหนัก หรือเก็บตามรูปแบบอื่น ๆ เช่น เป็นสัตว์นักษัตร เป็นต้น ลูกเป้งจึงกลายเป็นของสะสมที่มีราคาในที่สุด ในอดีตนั้นลูกเป้งและถุงเป้ง มีความสัมพันธ์กับความเชื่อของคนล้านนาที่สอดคล้องกับคำทำนายหรือที่เรียกว่า หนังสือพรหมชาติล้านนาหลายฉบับที่กล่าวถึงคำทำนายโชคชะตาในด้านต่าง ๆ จะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเป้งและถุงเป้งอยู่หลายตอน เช่น

คนเกิดปีใดควรพกลูกเป้งกับถุงเป้งใดเพื่อให้เป็นมงคลกับตัว ดังนี้
คนเกิดปีใจ้ (ชวด) ให้ใช้เป้งรูปหนู ใช้ถุงเป้งลายเหลือง
คนเกิดปีเปล้า (ฉลู) ให้ใช้เป้งรูปวัว ถุงเป้งสองชั้น นอกขาวในเหลือง
คนเกิดปียี (ขาล) ให้ใช้ เป้งรูปเสือ ถุงเป้งสามชั้น ในเหลือง กลางขาว นอกดำ
คนเกิดปีเหม้า ( เถาะ) ให้ใช้เป้งรูปกระต่าย ถุงเป้งสองชั้น นอกขาวในเหลือง สายแดง
คนเกิดปีสี ( มะโรง) ให้ใช้เป้งรูปนาค ถุงเป้งสองชั้น ในแดงนอกดำ
คนเกิดปีใส้ (มะเส็ง) ให้ใช้เป้งรูปงู ถุงเป้งสองชั้น นอกเขียวในขาว
คนเกิดปีสะง้า ( มะเมีย) ให้ใช้เป้งรูปม้า ถุงเป้งสามชั้นในแดงกลางเหลือง นอกขาว
คนเกิดปีเม็ด ( มะแม) ให้ใช้เป้งรูปแพะ ถุงเป้งสองชั้น ในหม่นนอกขาว
คนเกิดปีสัน (วอก) ให้ใช้เป้งวอก ถุงเป้งสามชั้น นอกแดง กลางขาว ในเหลือง
คนเกิดปีเร้า (ระกา) ให้ใช้เป้งรูปไก่ ถุงเป้งสองชั้นนอกหม่นในขาวสายเหลือง
คนเกิดปีเส็ด (จอ) ให้ใช้เป้งรูปหมา ถุงเป้งสองชั้น นอกเหลืองในขาว
คนเกิดปีไก๊ (กุน) ให้ใช้เป้งช้าง ถุงเป้งสองชั้น ในขาวนอกเหลือง สายเขียวหรือแดง

ไม่น่าเชื่อว่า เป้ง เครื่องถ่วงน้ำหนักชั่งจะผนวกเอาความเชื่อของคนล้านนาเข้าไปด้วย โดยเฉพาะ เป้งสิบสองราศี บ้านใครเรือนใดมีเป้งก็เก็บรักษาไว้เน้อ เอาใส่ถุงเป้งพกติดตัวจะได้ริมาค้าขึ้น หรือเป็นมรดกพกห่อให้แก่ลูกหลานให้สมกับเกิดมาเป็นคนล้านนา หรือใครใคร่เห็นเป้งเป็นพัน ๆ ชิ้น ลองไปแอ่วที่พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นที่เชียงแสน รับรองว่าม่วนขนาด แลท่านเฮย

วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

แชร์ 763 ดู | 2 ความเห็น

Footprints

ความเห็น