เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

thejeekung

thejeekung的บล๊อก

thejeekung的主頁 | ดูทั้งหมด

งานเทศกาลผ้าตีนจกแม่แจ่ม ครั้งที่ 18

2011-02-02 00:40
 
 
** ประชาสัมพันธ์หน่อยครับ เผื่อมีคนสนใจ๋ไปแอ่ว

ภาพจาก  http://www.baanteenjok.com/


งานเทศกาลมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม ครั้งที่ 18

อำเภอแม่แจ่มกำหนดจัดงานเทศกาลมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม ครั้งที่ 18 

ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2554 

เพื่อเป็นสืบสานงานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวล้านนา

นายวิจิตร หลังสัน นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เพื่อเป็นการร่วมสืบสานและ
อนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมผ้าทอตีนจก และส่งเสริมผ้าทอตีนจกให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น
อำเภอแม่แจ่มร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอแม่แจ่ม 
และสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่แจ่ม กำหนดจัดงานเทศกาลมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม ครั้งที่ 18 
ในวันที่ 4 -6 กุมภาพันธ์ 2554 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม 
โดยภายในงานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม จะมีการประกวดผ้าตีนจก ผ้าทอพื้นเมือง 
การสาธิตกระบวนการผลิตผ้าทอตีนจก ผ้าพื้นเมือง และผ้าชาวเขา การแสดงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชนเผ่า
การแข่งขันบอกไฟขึ้น การล่องแพน้ำแจ่ม และนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ในภาคกลางวัน
และมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวทีกลาง การประกวดธิดาผ้าตีนจก และการแสดงมหรสพ 
ในภาคกลางคืน โดยจุดเด่นของงานคือขบวนแห่วัฒนธรรมประเพณี การประดับตกแต่งรถด้วยผ้าตีนจก 

สำหรับผ้าตีนจกแม่แจ่ม เป็นศิลปหัตถกรรมล้านนา สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณ 
โดยผ้าทอตีนจกแม่แจ่มจะมีเอกลักษณ์ คือ เป็นการทอหรือจก โดยการคว่ำลายลงกับกี่ทอผ้า
และจกทางด้านหลังของลาย จึงมีความละเอียด ประณีต งดงาม สามารถนุ่งได้ทั้งด้านนอกและด้านใน 
ทั้งนี้ผ้าทอบางผืนมีอายุกว่า 200 ปี ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติด้วย

ธิดาผ้าตีนจกประกวด 6 กุมภาพันธ์ 2554 (รับเฉพาะภูมิลำเนาอำเภอแม่แจ่มอย่างน้อย 6 เดีอน)

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ซ้อมเดิน
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ทำกิจกรรม

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
สาธารณสุขอำเภอแม่แจ่ม 053-485100

http://thailandbeauties.com/board/index.php?showtopic=2586



-----------------------------------------------------------------

ความเป็นมาและความรู้

เกี่ยวกับงานมหกรรมผ้าตีนจก อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก  http://fm100cmu.com/blogs/2010/10/18/meajam


สุดสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์เป็น ช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่เบ่งบานสุดขีด 
มีการจัดงานพร้อมๆกันหลายๆงาน แต่งานหนึ่งที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่กลับเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว
ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายแห่งศิลปวัฒนธรรมโบราณ
ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ  เพราะที่แห่งนั้นคือ ดินแดนแห่งผ้าทอลายตีนจกอันเลื่องชื่อ 
ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง 

ผ้าตีนจกแม่แจ่ม เป็นผ้าที่ชาวไทยยวนทอขึ้นมาเพื่อใช้นุ่งในโอกาสพิเศษนอกเหนือจากผ้าซิ่น
ที่ชาวบ้านใช้นุ่งในชีวิตประจำวัน โอกาสเหล่านั้นได้แก่การไปทำบุญที่วัด งานประเพณีต่างๆ ของชุมชน
และวันสำคัญของครอบครัว เป็นต้น โดยที่สภาพหมู่บ้านของ แม่แจ่มมีกลุ่มช่างทอผ้าที่เข้มแข็งทำการทอผ้า
สืบต่อกันมามีจำนวนมากพอสมควร เช่น ที่บ้านท้องฝาย บ้านทัพ บ้านไร่ เกือบทุกบ้าน จะมีเครื่องมือทอผ้า 
คือ หูกอยู่ใต้ถุนบ้าน และผลงานของผ้าตีนจกที่ทอออกมาก็มีความงดงามด้วยลวดลายและสีสันไม่ซ้ำใคร
โดยที่มีลายใช้ประจำอยู่หลายลาย และมีลายประยุกต์หรือยืมมาจากที่อื่นบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของ
การถ่ายเทรูปแบบกันและกันบ้าง ตามสมัยนิยม ทั้งราคาที่เสนอขายก็มีความเหมาะสมต่อการซื้อไปใช้ 
หรือฝากให้ญาติพี่น้อง จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน แม่แจ่มอยู่เสมอมา

อำเภอแม่แจ่มถือได้ว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการทอผ้าซิ่น ตีนจกกันมากที่สุด ผ้าทอของแม่แจ่มมีเอกลักษณ์
ในการทอหรือจกในลักษณะการคว่ำลาย ทำให้ลวดลายที่ได้สวยงาม ปราณีตเฉพาะแบบไม่เหมือนใคร 
ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มยังถือเป็นศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นล้านนาที่สืบทอดเป็นมรดก ทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม 
การทอผ้าตีนจกถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นอย่างชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่ที่ผู้หญิงแม่แจ่มเริ่มเรียนรู้
วิธีการทอผ้าในวัยสาว จนกระทั่งถึงวัยแก่ชีวิตของพวกเขาก็ยังมีการทอผ้าอยู่เสมอ ที่เห็นได้ชัดเมื่อ
เวลามีงานบุญสำคัญต่าง ๆ ชาวแม่แจ่มก็จะนำผ้าตีนจกที่ทอเก็บไว้ออกมานุ่งกัน ผ้าตีนจกถือได้ว่าเป็น
ของสำคัญที่ลูกสะใภ้นำไปไหว้แม่สามีตอนแต่งงาน นอกจากนั้นผ้าตีนจกยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต
ของผู้หญิงชาวแม่แจ่ม ตั้งแต่เกิดจนตาย 

(สัมภาษณ์นายอำเภอแม่แจ่มคุณวิจิตร หลังสัน)

ลักษณะของซิ่นตีนจกแบ่งส่วนออกเป็น ๓ ส่วน คือ หนึ่งหัวซิ่นหรือเอวซิ่น ทอขึ้นมาเป็นผ้าสีพื้นสีเดียว เช่น 
แดง ดำ หรือขาว มีความกว้างคืบครึ่งหรือสองคืบ ลักษณะ ต้องอ่อนและนิ่ม เพื่อว่าเวลานุ่งจะได้ไม่เกิด
ความระคายเคืองแก่ผิวหนังมากนัก 

ส่วนที่สองคือ ตัวซิ่น ทอเป็นลวดลายตามทางยาวสลับลวดลายตามแบบยกลาย ในเนื้อผ้าด้วยตะกรอ 
ใช้ฟืมหน้าแคบเช่นกัน กว้างประมาณสองคืบหรือว่าลายที่ได้จะเป็นลาย ตามความยาวของผ้า 
แต่เมื่อเย็บต่อกับหัวซิ่นตามด้านยาวแล้ว ลายตัวซิ่นก็จะเป็น ลายขวางกับตัวซิ่นไป 

และส่วนสุดท้ายคือส่วนสำคัญ ตัวซิ่น ทอด้วยผ้าพื้นสีเดียว เช่น แดง ดำ เป็นต้น ทอด้วยฟืมหน้าแคบเช่นกัน
ประมาณสองคืบและจกลวดลายลงบนผ้าพื้นด้วยปลายขนเม่น ปลายไม้หรือนิ้วมือ เพื่อสอดเส้นพุ่งพิเศษ
ที่เตรียมไว้ต่างหากด้วยสีสันต่างๆ กันไป 

 

การจกจะ ทำด้านหลังของผืนผ้าเพื่อสะดวกในการต่อด้าย หรือยกด้ายข้ามกันไปมาได้สะดวก 
ลายก็จะไป ปรากฏอยู่ด้านหน้าของผืนผ้า 

ลวดลายที่ใช้อยู่ของแม่แจ่มลายหลักๆ ก็จะมาในรูปของสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเป็นแม่ลายเรียงต่อกันตามแนวยาว 
สอดสลับด้วย ลายรูปสามเหลี่ยมหรือรูปฟันปลา และแบ่งลายด้านในและนอกของรูปทรงเหล่านี้ด้วยรูปทรงเรขาคณิต 
เช่น ขอเบ็ดม้วนเข้าใน ขอเบ็ดม้วนกลับออกข้างนอก พร้อมกับสอดสีสลับกันไปตามแบบที่คิดไว้ 
และลวดลายเหล่านี้ก็มีชื่อเรียกในหมู่ช่างทอเช่น ลายเจียงแสนหลวง หงษ์หลวง ลายขันแอวอู 
ลายขันสามแอว ลายกุดขอเบ็ด ลายละกอน ลายหงษ์ปล่อย ลายนกนอน เป็นต้น 

วัสดุที่นำมาใช้ทอผ้าตีนจกก็ได้จากการปลูกฝ้ายพื้นเมือง ผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้เป็นเส้นด้าย
แล้วนำมาย้อมสีด้วย สีที่ได้จากธรรมชาติหรือสีเคมีสังเคราะห์แล้วนำมาทอ หรือจะซื้อด้ายดิบจากท้องตลาด
แล้วนำมาย้อมสีด้วยเอง หรือซื้อด้ายย้อมสำเร็จ รูปก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ความสะดวกของช่างทอผ้า 
ปัจจุบันมีการผสมผสานเส้นด้ายชนิดใหม่เข้าไปในการทอผ้าตีนจก มีการสอดใส่ ดิ้นเงินบ้างตามความต้องการ
ของตลาด ทำให้เกิดความหลากหลายของวัสดุที่ใช้ทอผ้ามากขึ้น

ผ้าตีนจกแม่แจ่มที่ทอเสร็จแล้ว ผู้ซื้อก็นำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำถุงสำเร็จ หรือนำไปต่อชายผ้าซิ่นชนิดอื่น 
ตัดเสื้อกั๊ก ตัดเสื้อสูท กระเป๋าถือ ชายผ้าปูโต๊ะ ม่านแขวนผนัง หรือเก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว เป็นต้น
ทำให้ผ้าซิ่นตีนจกมีที่ใช้งานหลากหลาย ออกไปจากเดิมมากมาย 

การจัดงาน " วันตีนจกแม่แจ่ม " ของทางอำเภอช่วยให้มีการซื้อขายและสั่งทอตีนจกตามความต้องการของตลาดมากขึ้น 
นับเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจของช่างแม่แจ่มดีขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

สำหรับท่านที่เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่มนอกจากจะพบเห็นวิถี ชีวิตการทอผ้าของชาวบ้านแล้ว 
ที่อำเภอแม่แจ่มยังมีสถานท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า เช่น ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด 
โบสถ์กลางวัดที่วัดพุทธเอ้น พระพุทธรูปโบราณพระเจ้าตนหลวง ตลอดจนถึงการศึกษาวิถีชีวิต
และความเป็นอยู่ของชนเผ่า โดยเฉพาะชาวลัวะ ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนดั่งเดิมของที่นี่ 
มีการดำรงชีวิตสืบทอดลูกหลานมาหลายร้อยปี 

การทอผ้าพื้นเมืองของแต่ละชุมชน แต่ละเผ่าพันธุ์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผลพวงของการทอผ้า
จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการตลาด การตอบสนองทางเศรษฐกิจ รายได้และค่าตอบแทน 
แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่พวกเขาได้รับคือการร่วมสืบสานงานฝีมือทอผ้าพื้นบ้าน ของแม่แจ่มให้ดำรง
คงอยู่ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลานั่นเอง 

ขอขอบคุณ ข้อมูลเรื่องจาก คุณจักรพงษ์ คำบุญเรือง 

 

http://fm100cmu.com/blogs/2010/10/18/meajam
แชร์ 3816 ดู | 0 ความเห็น

Footprints

ความเห็น