เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

thejeekung

thejeekung的บล๊อก

thejeekung的主頁 | ดูทั้งหมด

ที่มาของงาน 600 ปี พระเจ้าติโลกราช

2009-11-13 15:03
 
 
แหมหนึ่งบทความเกี่ยวกับงาน 600 ปี พระเจ้าติโลกราชครับ
เอามาหื้ออ่านกั๋นไว้ประดับความฮู้
ขอบคุณข้อมูลจาก
 
--------------------------------------------------------------------------
 
 
ที่มาของ ๖๐๐ ปี พระเจ้าติโลกราช

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้ นักประวัติศาสตร์แถวหน้าแห่งล้านนาหลายท่าน อาทิ อ.เกริก อัครชิโนเรส และ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้นั่งคำนวณปฏิทินพบว่ากำลังจะมีวาระ พิเศษครบรอบหกศตวรรษชาตกาลของมหาราชพระองค์หนึ่ง ซึ่งในตำนานและจารึกหลายหลักได้ สมัญญานามของพระองค์ไว้ว่ามีความยิ่งใหญ่ทั้งทางโลกและทางธรรมทัดเทียมดุจเดียวกับพระเจ้า อโศกมหาราชแห่งอินเดีย

กษัตริย์ล้านนาพระองค์นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก พระญาติโลกราช (ในตำนานใช้คำว่าพระญา ไม่ใช่พญา หรือพระเจ้า) หรืออดีตท้าวลก วีรกษัตริย์ผู้ที่แต้มแต่งสีสันให้ประวัติศาสตร์ล้านนามีความเร้าใจในระนาบเดียวกันกับอีกหลายมหาราชในหน้าประวัติศาสตร์เอเชีย ด้วยฉายา ล้างมือในอ่างพระธรรม หลังจากการได้มาซึ่งพระราชอำนาจด้วยบัลลังก์เลือดŽ ไม่ต่างไปจากวีรกรรมการสร้างเสาจารึกประกาศธรรมของพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังจากที่ได้รุกรานแว่นแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีปมาผนึกเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธอย่างกระหายโลหิต ไม่ต่างไปจากการที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชแห่งกัมพูชา เร่งประกาศศาสนธรรมด้วยการสร้างอโรคยศายา หรือโรงไฟที่พักคนเดินทางจากเมืองพระนครหลวง (อังกอร์ธม) มาจนจรดปราสาทเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรี นับเบี้ยใบ้รายทางแล้วร่วมร้อยกว่าแห่ง หลังจากที่เคยยีย่ำบ้านเล็กเมืองน้อย จนนอนฝันร้ายเห็นแต่ทะเลน้ำตาของไพร่พล

การประกาศศักยภาพความยิ่งใหญ่ทางธรรมของอาณาจักรล้านนาสู่สายตาโลกภายนอกด้วยการปวารณาตัวเป็นเจ้าภาพจัดการอัฐมหาสังคายนาพระไตรปิฎก (ครั้งที่ ๘ ของโลก แต่ครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม) ของพระญาติโลกราชนั้น หากมองเผินๆ ไม่คิดอะไรมากก็ดูเหมือนว่า พระองค์ท่านช่างเป็นกษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยทศบารมีอันแก่กล้า แต่หากใครได้เจาะลึกถึงเบื้อง หลังแห่งอัตชีวประวัติของพระองค์ท่านแล้วก็จะทราบดีว่า มูลเหตุสำคัญแห่งการอุทิศทุ่มกำลังพระราชทรัพย์สร้างวัดเจ็ดยอดหรือวัดมหาโพธารามด้วยสไตล์ศิลปะแบบสากล มีการจำลองเอารูปแบบมหาวิหารโพธิคยาในอินเดียมาสร้าง ยกระดับภาพลักษณ์ของล้านนาให้ดูอินเตอร์ เพื่อรองรับพระสงฆ์ระดับเกจิร่วมห้าพันรูปจากทั่วเอเชีย แท้แล้ว เบื้องลึกเบื้องหลังนั้นสืบเนื่องมาจากความปรารถนาอันแรงกล้าที่ต้องการไถ่บาปจากมือที่เปื้อนเลือด

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์มีแต่การศึกสงคราม ไหนจะต้องคอยหวาดระแวงด้านพม่า ไหนจะต้องคิดแผนการรวบเมืองพะเยาและเมืองแพร่กลุ่มล้านนาตะวันออกให้มาสวามิภักดิ์รวมเป็นเนื้อเดียวกันกับล้านนาตะวันตก เพื่อใช้เป็นฐานกำลังไปตีเมืองน่านเนื่องจากมีบ่อเกลืออันอุดม ทั้งยังขยายพระราชอาณาเขตไปถึงหลวงพระบาง ซ้ำยังรุกแผ่ขอบขัณฑสีมาไปถึงแว่นแคว้นสิบสองปันนา รวบเอาเมืองเล็กเมืองน้อยระหว่างโขง-สาละวินมาเป็นดองเครือญาติเขย-สะใภ้นับไม่ถ้วน

ยิ่งการสงครามระหว่างไม้เบื่อไม้เบาคู่ปรับเก่าตลอดกาลของพระองค์ นั่นคือกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาผู้มีคำแปลชื่อเหมือนกันว่า สามโลก คือพระบรมไตรโลกนาถ (ติโลกราช ก็แปลว่าสามโลกเช่นกัน) ซึ่งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มาอย่างยืดเยื้อเกือบสองทศวรรษ ภายหลังสงครามชิงเมืองสุโขทัย-พิษณุโลกสงบพบว่า พระบรมไตรโลกนาถหรือพระเจ้าสามโลกของไทยฝ่ายใต้ ต้องหนีโลกไปสงบจิตสงบใจผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลกเสียหลายพรรษา ในขณะที่พระเจ้าสามโลกของไทยฝ่ายเหนือคือพระญาติโลกราช จำต้องแอ่นอกรับเป็นเจ้าภาพจัดการชำระสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการใหญ่ เพราะลำพังแค่การสร้างวัดเล็กวัดน้อยทั่วแผ่นดินล้านนาก็ยังมิอาจไถ่โทษล้างภาพหลอนเก่าๆ จากบาดแผลในสนามรบให้ลืมเลือน

ก็สมควรแล้วที่ใครๆ ต่างเรียกขานพระญาติโลกราชว่าเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งล้านนา ลองจินตนาการดูว่าหากมีการนำชีวิตของพระองค์มาถ่ายทอดเป็นละครหรือภาพยนตร์เนื่องในวาระครบรอบ ๖๐๐ ปีแห่งชาตกาลในอีกสองปีข้างหน้านี้ จะดึงดูดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไม่รู้เบื่อสักเพียงไหน เพราะชีวิตของพระญาติโลกราชนั้นค่อนข้างสุดโต่งและมีสีสันเหมือนมนุษย์ปุถุชน

มีการประชม ณ. ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม มช. อ.เกริก อัครชิโนเรศ และ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้ระดมนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาศาสตร์ มาร่วมหาแนวทางใน การผลักดันให้โครงการเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๐๐ ปี พระญาติโลกราช เข้าสู่วาระสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ และได้โยนโจทย์ให้ช่วยกันขบคิดว่าในระหว่างสองปีนี้เราควรเตรียมการอย่างไรเพื่อจัดงานรำลึกถึงพระญาติโลกราช ให้สมกับคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ท่านได้ฝากไว้กับแผ่นดินล้านนา

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย ได้รับมอบหมายให้ศึกษาข้อมูลด้านศิลาจารึกที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ร่วมสิบหลักที่จารึกขึ้นในสมัยของพระองค์ นำมาเชื่อมโยงกับโบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอลังการปูนปั้นร่วมสองพันชิ้นที่ค้นพบใหม่ ณ เวียงเกาะกลางนั้น ก็น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในกลุ่มอันซีนที่พระญาติโลกราชได้มาสถาปนาไว้

เวลาสองปีดูเหมือนว่ายังอีกยาวนาน แต่สำหรับคนที่ทำงานวันละ ๒๕ ชั่วโมงอย่างลืมเดือนลืมตะวันนั้น เผลอแผล็บเดียวปีก็เคลื่อนเดือนก็คล้อยชนิดที่ตั้งตัวไม่ติด อย่าปล่อยให้ระยะเวลาสองปีนี้ผ่านเลยไปในฐานะผู้รอคอย อ.เกริก อัครชิโนเรศ และ ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อีกทั้งทีมงานกำลังต้องการมันสมองของชาวล้านนาทุกคนในการจัดงานเชิดชูเกียรติคุณของพระเจ้าสามโลก พระองค์นี้อย่างใจจดใจจ่อ

เรื่องราวของ "พระเจ้าติโลกราช" หรือ "พระญาติโลกราช" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งแห่งล้านนา บรรดาชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะรู้จักมากนัก ทั้งที่เป็นกษัตริย์ซึ่งสร้างคุณประโยชน์ให้เชียงใหม่อย่างเอนกอนันต์ ด้านการทำสงครามกอบกู้เมืองเชียงใหม่ ให้รอดพ้นจากการรุกรานของ ข้าศึก และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น

ตามประวัติที่ค้นคว้าโดย ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายเกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการอิสระ เขียนไว้ว่า พระเจ้าติโลกราช ประสูติเมื่อจุลศักราช 771 หรือ พ.ศ.1952 เป็นราชบุตรองค์ที่ 6 ของ พระญาสามฝั่งแกน

พระเจ้าติโลกราช จึงมีพระนามขณะยังเยาว์ว่า "ลก" ตามธรรมเนียมของคนโบราณนิยมเรียกบุตรชายคนที่ 6 เมื่อเจริญวัยตามสมควรจึงได้รับแต่งตั้งให้ไปครอง "เมืองพล้าววังหิน" ซึ่งเป็นอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เป็นการเริ่มต้นของการทำหน้าที่บริหารราชการเมือง ขณะยังเยาว์วัย

ต่อมาพระเจ้าติโลกราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 10 ในราชวงศ์มังราย เมื่อ จ.ส.804 หรือ พ.ศ.1985 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 33 พรรษา ทรงกรำงานศึกเป็นระยะๆ รวมถึง 12 ครั้ง นับแต่ปี พ.ศ.1986 ถึงปี พ.ศ.2029

การทำสงครามกับหัวเมืองต่างๆ มักจะเป็นการกำราบหัวเมืองให้อยู่ในพระราชอำนาจ แม้ว่าจะใช้จ่ายทรัพย์สินในการทำสงครามไปจำนวนมาก แต่ก็ได้ทรัพย์สินจากเมืองที่ยอมศิโรราบมาอยู่ในพระราชอำนาจ มาเสริมความมั่นคงมั่งคั่งแก่เมืองเชียงใหม่เป็นอย่างดี

ขณะพระเจ้าติโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ ได้ถูกข้าศึกกรีฑาพลมาตีเมืองหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถกระทำการได้สำเร็จ พระองค์ทรงนำทหารสู้ศึกอย่างห้าวหาญเก่งกาจ รักษาเมืองไว้ได้ตลอดมา และมีหลายหนที่พระเจ้าติโลกราช นำทัพไปตีเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ เคยทำสงครามกับเมืองน่านนานถึง 6 ปี>>
จากกิตติศัพท์อันเกรียงไกรในการทำสงครามของพระองค์ ที่ไม่เคยเพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูใด ทำให้เหล่าข้าศึกเกิดความเข็ดขยาด ไม่กล้ามาราวีในระยะต่อมา

ในช่วงพระองค์ปกครองเมืองเชียงใหม่ นอกจากการทำศึกสงครามแล้ว ยังได้มีกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสด็จออกทรงผนวชในนิกายลังกาใหม่ เมื่อ พ.ศ.1989 ทรงโปรดให้สร้างวัดป่าแดง อ.เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1995 โปรดเกล้าให้สร้างวัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ1999>>

หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าให้หมื่นด้ามพร้าคต ทำการบูรณะพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง ถนนพระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2018 และฉลองพระเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.2024 เสด็จไปนมัสการพระธาตุลำปาง เมื่อ พ.ศ.2022 เป็นต้น

ในการปกครองแผ่นดินเชียงใหม่ พระองค์ได้ทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อปกป้องไม่ให้ศัตรูเข้ามารุกราน และในขณะเดียวกันทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดเวลา จนล่วงเข้าสู่ชราภาพ และทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.2030

ระหว่างวันที่ 16 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2553 ครบรอบ 600 ปีของ พระเจ้าติโลกราช หรือ พระญาติโลกราช เหล่านักวิชาการ, นักประวัติศาสตร์ และตัวแทนองค์กรต่างๆ ในเชียงใหม่ ต่างรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์ ทรงมีต่อเมืองเชียงใหม่ จึงได้เตรียมการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่
 
 
แชร์ 2496 ดู | 0 ความเห็น

Footprints

ความเห็น