เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

thejeekung

thejeekung的บล๊อก

thejeekung的主頁 | ดูทั้งหมด

ตำนานวังบัวบาน ความเป็นมาของวังบัวบาน

2012-04-01 22:39
 
 

วังบัวบาน

เป็นชื่อวังน้ำที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูงบริเวณเหนือน้ำตกห้วยแก้วที่เรืองนามในอดีต ถ้าใครไปนมัสการ
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย พระนักบุญแห่งล้านนา ผู้นำชาวพุทธทั้งที่ใกล้และไกลสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเมื่อ
พุทธศักราช ๒๔๗๘ จะพบทางแยกจากอนุสาวรีย์ไปทางด้านซ้าย หากเดินตามไปเรื่อยๆ ราวร้อยเมตรเศษๆ 
จะพบน้ำตกห้วยแก้วซึ่งครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีน้ำตกใสไหลเย็นตลอดแล้งตลอดพรรษา แล้วเดินเลยขึ้นไป
อีกนิดก็จะพบวังบัวบาน สถานที่นี้อยู่ตีนดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 
วังน้ำนี้เดิมเรียกกันว่า ?วังกูลา? ?วังกุลา? มีเรื่องเล่ามาก่อนว่ามี ?กูลวา? ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่งพลัดตกลงไป
ตายในวังน้ำแห่งนี้ คำว่า ?กูลวา-กุลา? ใบภาษาล้านนาหมายถึงชนชาติแขกหรือฝรั่ง วังน้ำที่เกิดเหตุจึงได้ชื่อดังกล่าว 
   
ต่อมามีหญิงสาวชื่อ ?บัวบาน? ตกลงไปตายในวังน้ำนี้อีก จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า ?วังบัวบาน? (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ 
นักเขียนสารคดีเชิงบันทึกเหตุการณ์กล่าวไว้เมื่อ ๒๔๘๗) เรื่องราวการตายของบัวบานนั้น มีการโจษขานกันอยู่
สองกระแส บ้างเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตาย บ้างก็ว่าเป็นเพราะหญิงดังกล่าวพลัดตกโดยอุบัติเหตุทั้งนี้ก็มีสาเหตุ
มาจากเรื่องชู้สาว 

จากการให้สัมภาษณ์ของนายศิริพงษ์ ศรีโกศัย (นักจัดรายการวิทยุชื่อที่ใช้นามแฝงว่า ?ย่าบุญ?) 
เมื่อ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ เล่าว่า ที่ตั้งบ้านของบัวบาน ปัจจุบันอยู่ฟากถนนตรงกันข้ามกับอาคารอำนวยการ
หลังเก่าของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เธอมีอาชีพเป็นครูสอนที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย 
โรงเรียนซินเซิง โรงเรียนฮั่วเคี้ยว และโรงเรียนฮั่วเอง ครูบัวบานมีคนรักเป็นนายทหารรักษาพระองค์ 
ต่อมาถูกทหารดังกล่าวสลัดรัก บัวบานจึงเสียใจมาก และได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยโดดลงไปในวังน้ำแห่งนั้น 
   
ส่วนเจ้าบุญศรี ณ เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ ว่าครูบัวบานมีสถานที่อยู่ ตรงกันกับที่กล่าวมาแล้ว 
และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ครูบัวบานเป็นสตรีที่มีรูปสวยจนเป็นที่เล่าลือกันทั่วไป ในช่วงที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในช่วง
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๘) ครูบัวบานคนสวยเป็นครูที่อยู่โรงเรียนวัดฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง 
จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนั้นได้มีทหารราบจากกรุงเทพมหานคร ขึ้นมาตั้งอยู่ที่วัดฟ้าฮ่ามด้วย นายร้อยตรีหนุ่มรูปหล่อ
ในกองทหารนั้น ได้พบกับครูบัวบานคนสวยบ่อยครั้งเข้า ก็สนิทสนมและกลายเป็นคู่รัก ถึงขั้นได้เสียกัน 
ต่อมานายร้อยตรีผู้นั้นกลับลงไปกรุงเทพฯ ตามคำสั่ง พร้อมกับให้คำมั่นคำสัญญาว่าจะขึ้นมาแต่งงานกับครูบัวบาน
คนสวย แต่คำสัญญานั้นลงท้ายกลายเป็นคำลวง เพราะนายร้อยตรีหนุ่มนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว ครูบัวบานรออยู่นาน
จนผิดสังเกต และเห็นว่าครรภ์โตมากขึ้น เมื่อแน่ใจว่าตนถูกหลอกแน่แล้ว จึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำตายที่วังน้ำดังกล่าว 

   
ในบทดังกล่าว ชื่อ ?วังบัวบาน? ของสมาน ไชยวัณณ์ ตีพิมพ์ในวารสาร ?คนเมือง ฉบับดำหัว? ต้อนรับสงกรานต์ ๒๕๑๑ 
กล่าวว่า ครูบัวบานตายเพราะอุบัติเหตุ โดยอ้างเอาคำสารภาพก่อนตายของอดีตครูประชาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเป็น
คนรักของครูบัวบาน ผู้เขียนบทความกล่าวว่า ตนรู้จักกับครูบัวบานเป็นอย่างดี และตนมีอายุอ่อนกว่าครูบัวบาน ๘ ? ๙ ปี 
ครูบัวบานเป็นสมาชิกของตระกูลและครอบครัวของผู้มีชื่อเสียงฐานะดี จบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อใน
เชียงใหม่และได้เป็นครูสอนที่โรงเรียนนั้น ครูบัวบานมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับครูประชาบาลคนหนึ่ง 

ผู้เขียนบทความเล่าว่าในขณะที่อดีตครูประชาบาลคนรักเก่าของครูป่วยหนักอยู่ในบ้านกลางเมืองเชียงใหม่ 
วันหนึ่งได้ออกปากเล่าแก่ภรรยาบุตรและญาติสนิทว่า ตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูบัวบาน ทั้งๆ ที่ตนก็มี
ภรรยาอยู่แล้ว เมื่อครูบัวบานตั้งท้องแล้ว ก็ได้นัดครูประชาบาลคนรัก ไปตกลงกันในที่ปลอดคนแห่งหนึ่งบนห้วยแก้ว 
ครูบัวบานขอให้จัดการแต่งงานเสีย เพื่อมิให้เป็นที่ละอายแก่ชาวบ้าน และเพื่อเห็นแก่ทารกในครรภ์ หลังจากที่
ต่างก็ให้เหตุผลแก่กันและกันเป็นเวลานาน ครูประชาบาลก็สรุปว่า ตนยังไม่อาจด่วนทำอะไรได้เพราะมีลูกเมียอยู่แล้ว 
ครูบัวบานไม่อาจทนฟังต่อไปได้จึงผละจาก แล้ววิ่งหนีไปโดยไม่ใส่ใจระมัดระวังเส้นทาง และได้พลาดตกจาก
หน้าผาอันสูงชันลงสู่ ?วังกุลา? และเสียชีวิตโดยไม่อาจช่วยได้ทัน ครูประชาบาลคนนั้นเสียใจเป็นที่สุด 
แต่ด้วยความตกใจและกลัวโทษจึงแอบซ่อนตัวกลับลงมาจากห้วยแก้ว และไม่ยอมปริปากให้ผู้ใดได้ล่วงรู้

เมื่อมีคนไปพบศพครูบัวบานแล้ว เรื่องหญิงงามที่ตายในวังน้ำ ก็ได้กลายเป็นหัวข้อที่กล่าวขานกันทั่วเมือง 
ผู้เขียนบทความกล่าวว่าด้วยผลกรรมที่ทำให้ครูบัวบานต้องตายนั้น ครั้งหนึ่งได้เกิดพายุใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ 
แรงพายุได้โหมกระหน่ำ ทำให้มะพร้าวต้นหนึ่งล้มฟาดลงมาทับหลังของครูประชาบาลผู้นั้น จนหลังหักและ
กลายเป็นอัมพาต เขาจึงได้ลาออกจากราชการมาอยู่กับครอบครัว และยังชีพอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญ เมื่อล้มป่วยหนัก
และก่อนสิ้นใจจึงได้สารภาพเรื่องของตนกับครูบัวบานให้ผู้อื่นรู้พร้อมกับย้ำว่า ครูบัวบานตายเพราะอุบัติเหตุ
มิได้ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย 


จากการศึกษาของ สุธาทิพย์ สว่างผล ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณกรรมล้านนา 
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๑ กล่าวว่า ในหนังสือนิทานพื้นบ้านไทยของวสันต์ ปัณฑวงศ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ 
กล่าวถึงเรื่องของครูบัวบานในแง่ที่แผกออกไป โดยกล่าวว่า มีปลัดอำเภอหนุ่มรักกับลูกสาวคหบดีชื่อบัวบาน 
และได้หมั้นหมายกันไว้ โดยที่ไม่มีผู้ใดขัดขวาง แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะปลัดอำเภอเป็นทาสการพนัน
ทุกชนิด ทำให้เกิดหนี้สินจนต้องยักยอกเงินราชการไปใช้หนี้ และเล่นการพนันด้วย ต่อมาได้ขอเงินจากบัวบาน
ว่าจะไปใช้หนี้ราชการ แต่กลับนำไปเล่นการพนันอีกจนหมด ถัดนั้นปลัดอำเภอหนุ่มได้นัดบัวบานไปสารภาพผิด
ที่หน้าผา แต่ทั้งคู่กลับทะเลาะกันอย่างรุนแรง จนสาวบัวบานทนไม่ได้จึงกระโดดหน้าผาตาย 
   
และเรื่องครูบัวบานนี้ สุธาทิพย์ สว่างผล ได้ไปสัมภาษณ์คนที่สนิทกับครอบครัวของครูบัวบานคนหนึ่งชื่อนางอรุณ 
หมู่ละสุคนธ์ อยู่บ้านเลขที่ ๑๓๐ ถนนแก้วนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ 
ซึ่งได้ความว่าบัวบานและหนุ่มชาวภาคกลาง ได้รักกันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และบัวบานได้ตายเพียงผู้เดียว 
เมื่อบัวบานตายแล้วชายหนุ่มก็หายหน้าไป ญาติของบัวบานต่างคิดว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ผู้เล่าเห็นว่าน่าจะ
เป็นอุบัติเหตุ หรือบัวบานอาจจะกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายก็ได้ 

   
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระแสที่เกี่ยวกับการตายของบัวบานอยู่หลากหลาย ความจริงจะเป็นเช่นไร ก็ยากที่จะ
สาวลึกลงไปได้อีก เพราะเหตุการณ์มันเกิดขึ้นนานมาแล้ว แต่ที่แน่นอนคือความเข้าใจของคนโดยทั่วไป มัก
สรุปลงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า บัวบานสาวเหนือถูกหลอกด้วยคำหวานหู จากหนุ่มคนใต้ จนเสียใจกระโดดผาตาย 
กลายเป็นตำนานรักและอุทาหรณ์สอนใจเอื้องเหนือทั้งหลาย ทำนองเดียวกันกับเรื่องราวของสาวเครือฟ้า 
(ละครที่ปรับปรุงจากเรื่อง ?มาดามบัตเตอร์ฟลาย? ซึ่งใครต่อใครคิดว่าเป็นเรื่องจริง) โดยปริยาย 

หมายเหตุ: บทความนี้เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ?ปัญญา? 
วารสารทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา เชียงใหม่ 
ฉบับที่ ๓๒ เมษายน - พฤษภาคม ๒๕๔๒. 
   
   สนั่น ธรรมธิ 
   สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
   
   ที่มา จากมรดก ล้านนา หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ เชียงใหม่ 
   http://www.thainews70.com/news/news-culture-sanon/view.php?topic=429 


ภาพบรรยากาศที่วังบัวบานครับ

แชร์ 10552 ดู | 0 ความเห็น

Footprints

ความเห็น