เข้าระบบ

ชื่อผู้ใช้

รหัสผ่าน

  ล ง ท ะ เ บี ย น  

thejeekung

thejeekung的บล๊อก

thejeekung的主頁 | ดูทั้งหมด

600 ปีพระประสูติกาล พระเจ้าติโลกราช

2009-10-09 22:50
 
 
600 ปีพระประสูติกาล
พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา
 
 
โดย...นายเมธี   ใจศรี
อ.สารภี  จ.เชียงใหม่
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)

 
          นับเป็นเวลา 100 กว่าปี ที่ผู้นำประเทศมุ่งสร้างความเป็นรัฐชาติ ทางจินตนาการให้กับท้องถิ่น จนทุกคนที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้มีความทรงจำเดียวกันหมด แต่เป็นความทรงจำที่ไม่มีอยู่จริง และออกจะห่างไกลจากคนท้องถิ่น ไม่มีความทรงจำในเรื่องท้องถิ่นของตนเอง เช่นไม่ให้คนท้องถิ่นเรียนภาษาพื้นเมือง กำหนดให้ภาษาไทยกลาง เป็นภาษาพูด และภาษาเขียนในการติดต่อกับราชการ เป็นต้น การที่รัฐดำเนินนโยบายเช่นนี้ทำให้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาที่ตายขาดการสืบทอด และหลักฐานที่สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้บันทึกไว้ ถูกทำลาย หรือ ขายให้กับคนต่างประเทศไปอย่างไม่เห็นคุณค่า


รองศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนา เท่าที่อาจารย์ได้พบเมื่อครั้งไปทำงานวิจัยที่ต่างประเทศ ล้วนมีอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยชื่อดัง และก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงที่น่าสลดใจมากคือส่วนใหญ่ได้มาจากการซื้อขายมาจากคนในท้องถิ่นทั้งสิ้น ปัญหานี้แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

           รูปที่ 1 พระเจ้าแข้งคม ประดิษฐานที่วัดศรีเกิด ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพระเจ้ากาวิละได้ย้ายมาจากวัดร้างนอกเมือง
เมื่อครั้งเข้าฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังสงคราม ขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ นักวิชาการล้านนาปัจจุปันสันนิฐานว่าเป็น
พระป่าตาลน้อยในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้น

          งานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาล พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ณ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ผู้เขียนมีความคิดว่ายังมีคนท้องถิ่นไม่น้อย ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ อันประกอบไปด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเคยเป็นดินแดนส่วนใหญ่ที่เรียกว่าอาณาจักรล้านนา ยังไม่รู้จักพระเจ้าติโลกราช ว่าพระองค์เป็นใคร และพระวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์มีอะไรบ้าง แต่คนส่วนใหญ่กลับรู้จักพ่อขุนรามคำแหง สมเด็จพระนเรศวรและนายขนมต้ม ดีกว่า ทั้งนี้เป็นผลมาจากการสร้างรัฐชาติ นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ซึ่งได้ใช้แบบ
เรียน และการศึกษา มาสร้างความทรงจำใหม่ให้กับคนท้องถิ่น และก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอ่อนแอ ไม่มีพลัง ถึงแม้ว่าจะมีการตื่นตัวมาศึกษาอย่างมากแล้วในปัจจุบัน แต่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษนั้นนับวันจะลบเลือนลงไปทุกที มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่คงสืบสานอยู่บ้าง และมีน้อยยิ่งกว่าที่เป็นวัฒนธรรมล้านนาบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพราะความจริงแท้วัฒนธรรมได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว ไปสู่วัฒนธรรมเพื่อการบริโภค เป็นวัฒนธรรมที่ตอบสนองเงินตรา


           ผู้เขียนมีความสนใจอย่างมากในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมล้านนา และเห็นว่าบทความนี้น่าจะเป็นการที่ทำให้คนภาคเหนือและคนอื่น ๆ รู้จัก พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา และ งานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาล พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ที่จะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ที่จะมาถึงในวันข้างหน้า ด้วยความภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนเหนือ และการที่จะระลึกถึงพระวีรกรรมของพระองค์ ตลอดจนบทเรียนต่าง ๆ ในสมัยของพระองค์ซึ่งมีทั้งดี และบกพร่อง ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นคติในชีวิตที่ต้องดำเนินไปตามกฎของวัฏสงสาร ซึ่งทั้งพระองค์ และเราก็ต่างก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน หากต่างกันในช่วงเวลาเท่านั้น

           รูปที่ 2 กู่หรือพระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2031 พระยอดเชียงราช
ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดให้สร้างจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ขึ้นในวัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอด
ในปัจจุบัน เพื่อเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระอัยกาธิราช แล้วโปรดให้สร้างกู่หรือพระสถูปใหญ่บรรจุ
พระอัฐิและพระอังคารธาตุของพระเจ้าติโลกราชไว้ภายในบริเวณวัด พระสถูปนี้ก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุม
มีซุ้มคูหาเป็นจตุรมุข หลังคาทรงบัวกลุ่ม ส่วนเครื่องยอดต่อขึ้นไปก่อเป็นพระสถูปทรงระฆังกลม ซุ้มคูหาด้านทิศตะวัน
ออกฝังเข้าไปในตัวมณฑป ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรปูนปั้นปางมารวิชัยหนึ่งองค์ รูปภาพจาก www.bloggang.com

           เพื่อความเข้าใจในเรื่อง งานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาล พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง พระราชประวัติ และ พระวีรกรรมของพระองค์ ซึ่งผู้เขียนได้ค้นคว้ามาจากตำราที่มีผู้รู้ได้เขียนไว้ดังนี้
          พระประวัติพระเจ้า ติโลกราช ( พ.ศ. 1952 -2031 ) พระองค์ประสูติในปีฉลู เอกศก จุลศักราช 771 หรือ พุทธศักราช 1952 ทรงเป็นราชบุตรลำดับที่ 6 ของพญาสามฝั่งแกนกษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 8 เดิมมีพระนามว่า ลก พระราชบิดาให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน ต่อมาได้กระทำผิดอาชญาพระราชบิดา จึงถูกเนรเทศไปไว้เมืองยวมใต้ ต่อมาสามเด็กย้อย ขุนนางเมืองเชียงใหม่ ได้ช่วยเหลือให้ท้าวลก ชิงราชสมบัติพระราชบิดาแล้วปราบดาภิเษกเป็นพระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 9 ในปีจอ จัตวาศก จุลศักราชได้ 804 (พ.ศ. 1985) เดือน 8 เพ็ญ วันศุกร์ ถวายพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติ โลกราช ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 34 พรรษา ครองราชสมบัตินาน 44 ปี และสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษา78 พรรษา


 
           รูปที่ 3 กระบวนทัพในสมัยอยุธยาจากจิตรกรรมฝาผนัง
วัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยารูปจาก guru.sanook.com

           พระราชกรณียกิจ ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่สำคัญ ๆ ที่ทำให้ยุคสมัยของพระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคทองของล้านนา ผู้เขียนสรุปได้ 3 ด้านคือ
           1. ด้านการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักร พระองค์ได้ขยายเขตแดนของอาณาจักรไปครอบคลุมทั่วพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและมีอำนาจเหนือพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่านตอนบนทั้งหมด ทั้งยังสามารถขยายอำนาจเข้าแทรกแซงหัวเมืองทางเหนือ
ของอาณาจักรอยุธยา คือเมืองพิษณุโลก สุโขทัยได้อย่างไม่เคยมีมาก่อนซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
           2. ด้านศาสนา พระองค์ได้สนับสนุนการเผยแผ่ศาสนา และส่งเสริมพุทธศาสนานิกายสีหล หรือลังกาใหม่ ให้มีความรุ่งเรืองจนมีพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฏก และแตกฉานในคัมภีร์ทางศาสนาเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการที่สามารถสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดโพธาราม มหาวิหารหรือวัดเจ็ดยอด ในสมัยของพระองค์ได้สำเร็จและการเกิดวรรณกรรมทางศาสนาที่สำคัญๆ เรื่อยมาจนมารุ่งเรืองในสมัยพระเมืองแก้วพระราชนัดดาของพระองค์ เช่น มูลศาสนา จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ มงคลทีปณี จักรวาลทีปนี และปัญญาสชาดก เป็นต้น
           3. ด้านการศิลปกรรม ในสมัยของพระองค์ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ให้มีความใหญ่โตและแข็งแรงกว่าเดิม โดยให้อำมาตย์ชื่อหมื่นด้ามพร้าคตหรือสีหโคตบดีไปนำแบบโลหะปราสาทและรัตนมาลีมาจากเมืองลังกา ทั้งได้มีการสร้างเจดีย์เจ็ดยอด ที่วัดมหาโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอดมหาวิหาร ซึ่งนำแบบมาจากเจดีย์มหาโพธิ เมืองพุกามที่เลียนแบบมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย และมีการหล่อพระพุทธรูปทองคำแบบศิลปะลังกาขึ้นเรียกว่าพระป่าตาลน้อยซึ่งนำไปประดิษฐานที่วัดป่าตาลยังไม่นับรวมไปถึงการสร้างวัดสำคัญ ๆ ทั่วอาณาจักรในสมัยนี้จึงเป็นยุคทองของศิลปกรรมล้านนาที่มีการผสมผสานศิลปะล้านนากับศิลปะแบบลังกา
           ที่สำคัญยิ่งพระองค์ยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระแก่นจันทร์ พระพุทธรูปสำคัญในตำนานพุทธศาสนา มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุที่เจดีย์หลวงกลางเมือง เป็นการสร้างศูนย์กลางของอำนาจทางศาสนาและการเมือง ตามคติทางพุทธศาสนา
           สิ่งที่จะลืมเสียไม่ได้เมื่อกล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ คือ การทำสงครามกับอยุธยา พระองค์ได้ทำสงครามกับอยุธยาหลายครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันอาณาจักรจากการจากการถูกแทรกแซงอำนาจจากอยุธยา ซึ่งมักจะเข้ามาแทรกแซงเสมอเมื่ออาณาจักรอ่อนแอและมีโอกาส สงครามกับอยุธยาในสมัยของพระองค์ ตรงกับสมัยของพระเจ้าสามพระยา และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งอยุธยา ต้นเหตุของสงครามครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1985 หมื่นเซริงสามไขหาญ เจ้าเมืองเทิง เกิดเป็นศัตรูกับพระเจ้าติโลกราช ได้ขอสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบรมราชาธิราช ที่ 5 หรือ เจ้าสามพระยา พระเจ้าสามพระยา
จึงถือเป็นโอกาสเสด็จยกทัพมาตีเชียงใหม่ แต่มายังไม่ถึงเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชได้จับเจ้าเมืองเทิงประหารชีวิตเสียก่อนกองทัพอยุธยาที่ยกมาถึงได้แต่เพียงจับชาวล้านนาไปเป็นเชลย แต่ก็ถูกอุบายชาวล้านนาปลอมเป็นตะพุ่นช้างปะปนในกองทัพอยุธยาและถือโอกาสยามวิกาลตัดปลอกช้าง ฟันหางช้างจนช้างของอยุธยาแตกตื่นกองทัพเชียงใหม่ได้ยินเสียงอึกทึกก็ได้ยกเข้าตีกองทัพอยุธยาแตกพ่ายไป หลังจากนั้นเจ้าสามพระยาได้พยายามยกทัพมาอีกครั้งหนึ่งแต่ได้ประชวรสิ้นสวรรคตเสียกลางทาง
           ส่วนสาเหตุที่ต้องทำสงครามในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คือ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสวยราชสมบัติที่อยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1991 พระองค์มีความพยายามที่จะรวมศูนย์ทางอำนาจไว้ที่อยุธยาแห่งเดียว จึงเกิดความขัดแย้งกับพระยายุธิษฐิระเจ้าเมืองสองแควเชื้อสายกษัตริย์สุโขทัยเดิม พระยายุธิษฐิระจึงเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช และขอให้ยกทัพลงมาเอาบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยเข้าไว้กับล้านนา จึงถือเป็นการเริ่มต้นสงครามยืดเยื้อแย่งชิงดินแดนแคว้นสุโขทัยเดิมกับกรุงศรีอยุธยาต่อมาเป็นเวลานาน สงครามในครั้งนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลกเพื่อทำสงครามกับล้านนา
ตลอดรัชกาลของพระองค์ และสงครามกับล้านนาในครั้งนี้เองทำให้อยุธยาต้องเสียเมือง ศรีสัชนาลัย แก่ล้านนา จนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องออกผนวชเพื่อเจรจาสงบศึกและขอเมืองศรีสัชนาลัยคืนจากพระเจ้าติโลกราชแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อทรงลาผนวช
แล้วจึงได้ออกอุบายให้พระเถระพุกามรูปหนึ่งไปเป็นไส้สึก ทำลายไม้ศรีเมืองเชียงใหม่ และยุยงให้พระเจ้าติโลกราชเกิดความระแวงสงสัยบรรดาข้าราชบริพาร ถึงกับทรงสำเร็จโทษท้าวบุญเรืองราชโอรส รวมทั้งการลงโทษหมื่นด้งนคร เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เกิดวรรณคดีอยุธยาที่สำคัญ คือ ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งกล่าวถึงการทำสงครามและมีชัยชนะต่อล้านนา
           การทำสงครามต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากและบอบช้ำมากพอกัน จนต้องทำการเจรจาสงบศึกตลอดรัชสมัยของทั้งสองพระองค์

           รูปที่ 4 อนุสาวรีย์พระเจ้าติโ?ลกราช ที่วัดศรีเกิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างตามจินตนาการของศิลปิน
พื้นเมืองตามคำสันนิฐานของ รศ.สมโชติ อ๋องสกุล อาจารย์ประจำ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รูปจาก  picasaweb.google.com/.../P_i57va43gDoLrhuh1K8RQ

           นอกจากการทำสงครามกับอยุธยาแล้ว พระองค์ยังได้ส่งยกกองทัพไปรบกับแกว ที่รุกล้ำเข้ามายังเมืองน่านครั้งนั้นทำให้กองทัพแกวเสียหายมากนัก เป็นที่พอใจของกษัตริย์จีนอย่างมาก เพราะแกวมักส่งกองทัพมารบกวนเขตชายแดนของจีนอยู่บ่อยครั้ง พระเจ้าติโลกราชจึงทรงได้รับเกียรติจากราชสำนักจีน และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นท้าวหนักพญาใหญ่ ในทิศตะวันตก ซึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ?แต่นี้ไปเมื่อหน้า พายวันตกนกนอนไว้เจ้าท้าวล้านนาเป็นหนักเป็นใหญ่ หื้อป่าวเตินท้าวพญาฝูงอยู่วันตกนกนอนหื้อฟังคำเจ้าท้าวล้านนาชุบ้านชุเมืองเทอะว่าอั้น?
           จากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระวีรกรรมของพระองค์ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นนั้น คงจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักพระเจ้าติโลกราชบ้าง และคงเห็นความสำคัญที่จังหวัดเชียงใหม่จะจัดงานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาลของพระองค์ ซึ่งได้สร้างสิ่งดีงามไว้บนผืนแผ่นดินล้านนา
           ส่วนงานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาลพระเจ้าติโลกราชนั้น วิทยุชุมชนรายการเสียงสุนทรีย์ ซึ่งดำเนินรายการโดยคุณจีระจันทร์ ทีปเสน ได้กล่าวถึงงานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาลพระเจ้า ติโลกราชไว้ว่า เริ่มต้นจากความคิดของ ศาสตราจารย์ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี และมีการขยายออกไปสู่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตระหนักถึงพระวีรกรรมของพระองค์ที่ได้สรรค์สร้างสิ่งดีงามไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมเพื่อเตรียมงานมาแล้ว 2 ครั้ง การประชุมครั้งที่ 2 ได้กำหนดให้วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นวันพระประสูติกาลเป็นวันแรกในการเฉลิมฉลอง ทำพิธีบวงสรวงพระเจ้าติโลกราช
และให้มีการจัดกิจกรรมไปตลอดทั้งปีคือตั้งแต่ วันที่ 16 เมษายน 2552 ถึง วันที่ 15 เมษายน 2553 ( ล้านนาใช้ปีทางจันทรคติ) ทางคณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลอง 600 ปี พระประสูติกาลพระเจ้าติโลกราช ได้มีความพยายามจะผลักดันให้งานดังกล่าวเป็นวาระสำคัญของ จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นปีแห่งศิลปวัฒนธรรมล้านนา
           ในการประชุมเพื่อระดมความคิดนั้น มีนักวิชาการทางล้านนาคดี หลายท่านได้เสนอแนวทางในการจัดกิจกิจกรรมงานเฉลิมฉลองไว้อย่างหลากหลาย และน่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งจะขอยกตัวอย่างแนวทางของนักวิชาการบางท่านดังนี้
           ศาสตราจารย์ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี เสนอว่า ควรจะมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ สร้างเหรียญที่ระลึก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอด และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมด้วย ทั้งนี้เพื่อพระวีรกรรม และประวัติศาสตร์ของพระองค์จะได้มีการเรียนรู้และจดจำ
           อาจารย์วิถี พาณิชพันธุ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา กล่าว่าควรรื้อฟื้นประเพณีบวชพระสงฆ์ลงขนานหรือบวชในแพขึ้น เหมือนที่เคยมีในสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งจะทำที่ใดก็ได้ ให้ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่หรือคนอื่นๆ ได้รู้ว่าวัฒนธรรมล้านนา ที่ดีงามเป็นอย่างไร
           อาจารย์มานพ มานะแซม อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าน่าจะมีการแสดงดนตรีเมืองล้านนาผสมกับดนตรีสมัยใหม่ และแสดงละครเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยของพระองค์ และสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นน่าจะมีการร่วมกันแกะไม้ค้ำโพธิ์ โดยเชิญศิลปินล้านนามาร่วมกันแสดงออกถึงศิลปะล้านนา เพราะเมื่อสิ้นสุดปีเฉลิมฉลองแล้วยังหลงเหลือผลงานให้ไว้เป็นที่จดจำ และเป็นที่ระลึกถึงสิ่งดีงามที่ผู้คนในเชียงใหม่ และทางภาคเหนือได้ร่วมกันทำขึ้น
           และอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ โครงการสารานุกรมไทย ภาคเหนือ มีข้อเสนอแนะว่า นอกจากในรูปกิจกรรมอื่นๆ แล้วทางวิชาการควรจะมีการพัฒนาขึ้นด้วย โดยมีการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับด้านศาสนา นโยบายทางการเมือง และนโยบายต่างๆประเทศในสมัยพระเจ้าติโลกราชด้วย และตลอดปีที่มีการเฉลิมฉลองน่าจะทำสัญลักษณ์ให้ประชาชนและคนอื่นๆ ได้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่เช่น ทำช่อตุง ติดไว้บริเวณคูเมืองเชียงใหม่ และติดไว้ที่งานบุญต่างๆ
           จากแนวทางที่นักวิชาการต่างๆได้เสนอไว้ข้างต้นสังเกตได้ว่ามีความหลากหลายที่จะดำเนินการ ซึ่งแนวทางเหล่านั้นเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างสำนึก เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมก่อให้เกิดการตื่นตัวเพื่อสร้างสรรค์ อนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งดีงามให้คงอยู่ได้ต่อไป
           ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานเฉลิมฉลอง 600 ปีพระประสูติกาลพระเจ้าติโลกราช จะทำให้คนภาคเหนือเห็นความสำคัญของเรื่องราวในท้องถิ่น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อตัวเอง และสังคมที่ตนอาศัยอยู่นั้นได้ ที่สำคัญงานนี้คงจะสร้างความภูมิใจ และสร้างองค์ความรู้ของท้องถิ่นไว้ได้อย่างมาก ทั้งทำให้เกิดความเข้าใจในตัวตนของคนภาคเหนือ ซึ่งมีพื้นฐานจากความรัก ความศรัทธาและการเข้าอกเข้าใจกัน ข้ามกรอบสำนึกทางประวัติศาสตร์ชาติที่ได้ครอบงำท้องถิ่นมายาวนาน ข้ามกรอบการล้าหลังคลั่งชาติอย่างที่เคยเป็นมา

 

เอกสารอ้างอิง
.........................................................................................................
จีริจันทร์ ประทีปะเสน (ผู้ประกาศ). (2550, กรกฎาคม 31). พระเจ้าติโลกราช [รายการวิทยุ]. เชียงใหม่: สถานีวิทยุชมชน
ประชากิจกรจักร, พระยา. (2516). พงศาวดารโยนก (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
พระเจ้าติโลกราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากwww.bloggang.com/mainblog.php?id=bfbmom&month...
           เข้าถึงได้จาก (วันที่ ค้นข้อมูล: 22 พฤษภาคม 2551).
พระเจ้าติโลกราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.khonmuang.com/BB/viewtopic.php?t=2604 เข้าถึงได้จาก (วันที่ ค้นข้อมูล: 31 มีนาคม 2551).
พระเจ้าติโลกราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.picasaweb.google.com/.../P_i57va43gDoLrhuh1K8RQ
           เข้าถึงได้จาก (วันที่ ค้นข้อมูล: 22 พฤษภาคม 2551).
พระเจ้าติโลกราช. [ออนไลน์]. http://www.th.wikipedia.org/wik/พระเจ้าติโลกราช-72
           เข้าถึงได้จาก (วันที่ ค้นข้อมูล: 31 มีนาคม 2551).
พระเจ้าติโลกราช. [ออนไลน์]. http://www.watthummuangna.com/board/showthread.php?t=1046
           เข้าถึงได้จาก (วันที่ ค้นข้อมูล: 31 มีนาคม 2551).
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2545). ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์ สุโขทัย ? อยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน.
ลิลิตยวนพ่าย. [ออนไลน์]. http://www.guru.sanook.com/search/knowledge_search.php?s...
           เข้าถึงได้จาก (วันที่ ค้นข้อมูล: 22 พฤษภาคม 2551).
ลำจุล ฮวบเจริญ. (2550). เกร็ดพงศาวดารล้านนา. กรุงเทพฯ: The Knowledge Center.
วิลาสวงศ์ พงศะบุตร. (2524). สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 13 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
สรัสวดี อ๋องสกุล. (2539). ประวัติศาสตร์ล้านนา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ.(2549). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: ตรัสวิน.

http://www.stou.ac.th/study/sumrit/1-52(500)/page1-1-52(500).html
แชร์ 1447 ดู | 0 ความเห็น

Footprints

ความเห็น